ข่าวเทคโนโลยี

เวียดนามเริ่มกิจการไอที สู่ระดับโลก (2) - โลกาภิวัตน์

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:00 น.
ความขยันและอดทนของชาวเวียดนาม นับว่าได้เปรียบแต่ก็ยังต้องดิ้นรน และพบอุปสรรคในการประกอบกิจการด้านไอทีพอควร เพื่อเข้าสู่ตลาดโลก แม้ว่าจะมีบริษัทรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์มากมาย

ชาลส์ สไปเออร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แกลส เอกก์ ดิจิตอลมีเดีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกมให้กับต่างประเทศได้กล่าวว่า

“บรรยากาศการลงทุนด้านไอทีสำหรับบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ถือว่าดีมากและเป็นมิตร”

“ที่บริษัท แกลส เอกก์ เรามีการอบรมสำหรับศิลปินด้าน 3 มิติ ตลอดเวลา ซึ่งศิลปินเหล่านี้เพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาใหม่เอี่ยมไม่มีประสบการณ์เลย ก็ต้องเริ่มต้นหัดเขียนโปรแกรมกันใหม่”คุณสไปเออร์ ก็ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าประเทศเวียดนามจะมีศักยภาพสูง แต่อุตสาหกรรมซึ่งต้องมีนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดเวลานั้น อาจจะต้องใช้เวลาเพราะระบบการศึกษาและมหาวิทยาลัยในเวียดนามยังมีไม่เพียงพอที่จะผลิตบุคลากรตามที่อุตสาหกรรมต้องการ

“ระบบการศึกษาในเวียดนามไม่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมหรือการคิดค้นประดิษฐ์ของใหม่ ซึ่งดูจากทิศทางการศึกษาของรัฐบาลแล้วยังไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงขณะนี้” คุณสไปเออร์ กล่าว

นักไอทีผู้ช่ำชองอย่างคุณตินห์ เหงียน ก็มีความระมัดระวังอยู่เหมือนกันในเรื่องการประกอบการบริษัทซอฟต์แวร์ เขากล่าวว่า

“การริเริ่มก่อตั้งบริษัทจำนวนมากของชาวเวียดนามนับว่ามีศักยภาพสูงมาก แต่ความเป็นจริงก็คือสนามในการแข่งขันยังน้อยอยู่ในปัจจุบัน

ในความเห็นของคุณตินห์ เหงียน นั้นอุปสรรคใหญ่ของกระบวนการนวัตกรรมของเวียดนามคือ ไม่มีแหล่งเงินลงทุน และยังมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์

“ตัวอย่างของอุปสรรคคือ กิจการด้านแอพ ของมือถือเคลื่อนที่ทั้งหลาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในระดับมาตรฐานสากลจะต้องลงทุนมหาศาล แต่นักพัฒนาโปรแกรมหลายคนก็ยังไม่มีแหล่งเงินลงทุนให้กู้”

ปัจจุบัน มีบัณฑิตจบไอทีประมาณ 100,000 คน คำถามก็คือ บริษัทคอมพิวเตอร์ทั้งหลายในเวียดนามยังรู้สึกว่าคนด้านไอทีน้อยไป เพราะต้องการนักพัฒนาโปรแกรมมากกว่านี้อีกมาก ซึ่งอันนี้ก็คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม

คุณลอง อายุ 23 ปี ในปัจจุบันนับว่ามีฝีมือมากคนหนึ่ง คือสามารถพัฒนาโปรแกรมแอพ สำหรับมือถือยี่ห้อ  แบล็กเบอร์รี่ ได้ถึง 17 ชุด รวมทั้ง เซลท์ (Saylt) และระบบการรับรู้ด้วยเสียง

คุณลอง ได้กล่าวว่า “นักพัฒนาโปรแกรมชาวเวียดนามปัจจุบันนับว่าเก่งและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่เขาเหล่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร รวมทั้งรัฐบาล”

ในอนาคตคุณลองนั้นฝันที่จะก่อตั้งบริษัทของตนเองให้ได้ในอนาคต แต่ดูบรรยากาศของประเทศเวียดนามขณะนี้น่าจะยังยากอยู่ “ผมอาจจะไปเริ่มต้นอนาคตของผมที่ต่างประเทศ”

สรุปแล้วก็คือ ประเทศเวียดนามยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนากิจการด้านไอที เหมือนกับประเทศไทยสมัย 20 กว่าปีก่อน เพราะรัฐบาลยังไม่มีเงินจากภาษีอะไรจากที่ไหนมากมายนัก แต่ประมาทไม่ได้ เพราะความขยันและอดทนของชาวเวียดนาม อนาคต 5 ถึง 6 ปีข้างหน้าอาจจะแซงประเทศไทยไปแข่งกับจีนก็ได้ สุดจะคาดเดา เพราะการเมืองประเทศไทยยังไม่นิ่ง อีกนานเท่าไรก็ไม่รู้ได้.
รศ.ดร.บุญมาก  ศิริเนาวกุล
อธิการบดี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
boonmark@stamford.edu

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น